วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

เมื่อดาวราหู(๘)ย้ายราศี ทำไมจึงควรเข้าร่วมพิธีเจริญพุทธมนต์นพเคราะห์??


การบูชาเทวดานพเคราะห์เป็นลัทธิที่นิยมทำกันอยู่ ... ความประสงค์ คือ ปรารถนาให้เทพยดาผู้มีฤทธิ์อำนาจ ช่วยเหลือป้องกันและปลดเปลื้องทุกข์ภัยพิบัติ ยังความเกษมสวัสดิ์ให้บังเกิดมี เป็นธรรมดาของมนุษย์ เมื่อได้ประสบทุกข์เข็ญก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขทุกข์ภัยด้วยอุบายพิธีต่าง ๆ จึงได้ประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าด้วยวรามิสอันวิจิตรบรรจงนานาประการ โดยวิธีทำให้ท่านชอบและหวังผลตอบแทน คือ ความสุขสราญนิราศภัย แต่การบูชาเทวดานพเคราะห์เป็นลัทธิไสยศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยคติพุทธศาสตร์เข้าแทรกอยู่ด้วยนี้ เป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่จะได้เป็นเทวดานั้น ต้องอบรมคุณงามความดีจนบารมีแก่กล้าด้วยตบะญาณ สิ้นกาลช้านานจึงเป็นเทวดาได้ เมื่อผู้ใดบูชาสักการะเทวดาก็เป็นผู้ที่เคารพ นับถือและบูชาผู้มีคุณงามความดีนั่นเอง และเป็นอันเชื่อว่าได้บำเพ็ญกรณี ส่วนเทวดาพลีการบูชาผู้ทรงคุณงามความดีจะหาโทษมิได้ ย่อมให้ประสบแต่ผลดี มีมงคล

สิ่งของที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีมากเพราะเป็นพิธีใหญ่ มีการจัดตั้งบัตรพลีบูชาเทพยดาตั้งเครื่องสังเวยเซ่นบวงสรวงเพื่อขอพรเทพยดา ดาวพระเคราะห์ ซึ่งสถิตในดวงชะตาให้มาช่วยปัดเป่าทุกข์ภัย บันดาลให้เกิดสวัสดิ์มงคล มีความสุขสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งขึ้นปราศจากอุปสรรคหายนะภัยอันตรายทั้งปวง จึงเรียกว่า พิธีสวดนพเคราะห์การสวดนพเคราะห์พระสงฆ์เป็นผู้สวดบทพระปริตรตามกำหนดบทของดาวนพเคราะห์ โดยสวดสลับกันกับโหร ซึ่งโหรทำหน้าที่กล่าวคาถาบูชาเทพยดาเป็นทำนองสรภัญญะ เมื่อโหรกล่าวคำบูชาเทพยดาจบแล้วพระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์ตามบทของดาวพระเคราะห์สลับกันไปกับโหรที่สวดบูชาเทวดานพเคราะห์องค์นั้น ๆ จนครบ ๙ องค์

พิธีเจริญมนต์นพเคราะห์แต่เดิมอยู่เฉพาะในวงศ์คฤหบดี เศรษฐี เจ้านายสูงศักดิ์ เพราะต้องใช้ทุนทรัพย์มากในการจัดพิธี ต้องใช้ทั้งทางพุทธศาสตร์ , โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ (พราหมณ์) ... อีกทั้งมักจัดพิธีเพื่อเจาะจงเฉพาะบุคคลในวาระการเปลี่ยนดาวเสวยอายุ/ดาวแทรก หรือในวาระวันเกิด แซยิด .... ต่อมาจึงได้บังเกิดความคิดทางเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย จึงเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาทุกเพศทุกวัยทุกฐานะได้เข้าร่วมในพิธีบูชานพเคราะห์เป็นการสะเดาะเคราะห์ เสริมสร้างบารมีให้ดวงชะตาดีเด่นเพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของชีวิตปัจจุบันและอนาคต จึงจำต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานพิธีบูชานพเคราะห์ขึ้นเป็นส่วนรวม ตามวาระอันสมควร โดยใช้ศาลาการเปรียญหรือวิหาร ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชานพเคราะห์ ... วาระในการประกอบพิธีก็เช่น ช่วงเวลาที่ดาวใหญ่ยกย้ายเปลี่ยนราศี (ดาวพฤหัสบดี,ดาวเสาร์,ดาวราหู,ดาวมฤตยู) เป็นต้น ... อีกทั้งได้บังเกิดเป็นพลังบารมีด้วยร่วมบุญตามกำลังศรัทธา จึงจะประสบผลสำเร็จหรือเป็นผลดีแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่มีฐานะด้อยและมีรายได้น้อยโดยเท่าเทียมกันนั่นเอง

หมายเหตุ : มีหลายคนที่มักจะกล่าวว่า #พระพุทธองค์ทรงห้ามการบูชาเทวดา ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจตีความที่ผิดมหันต์ เนื่องจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เคยตรัสแก่มหานาม ลิจฉวีกษัตริย์ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ใน #อปภิหานิยธรรมสูตรปัญจกังคุตตรนิกาย ว่า ปุนะ จะปะรัง มหานามะ กุละปุตโตยาตา เทวตา ตา สักกะโรติ... ส่วนแปลว่าอย่างไร ก็ตามไปหาคำตอบจากเวปไซด์ #กระทรวงวัฒนธรรม ค้นคว้าเพิ่มเติมเอาเองเถิด แล้วจะเกิดปัญญา มีปรากฏให้หาอ่านอยู่ชัดเจน ... #ชี้ชัดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น