วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“พญานาค” ... ตำนานและความเชื่อในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑


“พญานาค” เป็นสัตว์กึ่งเทพ กึ่งมนุษย์ มีฤทธิ์อำนาจสูงมาก จัดเข้าจำพวกโอปปาติกะโยนิ คือ ผุดเกิดขึ้นทันทีเหมือนเทวดา มีร่างเป็นทิพย์ สามารถเนรมิตร่างได้ทุกรูปแบบในพริบตา ... “พญานาค” อาศัยอยู่ในสวรรค์ ใต้น้ำ หรือบาดาล ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่าวังบาดาลที่พญานาคอาศัยอยู่นั้น ลึกลงไปใต้ดิน ๑ โยชน์ หรือ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร มีปราสาทราชวัง ที่วิจิตรพิสดาร อยู่ถึง ๗ ชั้น เรียงซ้อนๆกัน ชั้นสูงๆก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์


เรื่องของพญานาคในทางพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยพระพุทธกาล เรื่องราวกล่าวไว้ว่า เดิมทีพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลมีนิสัยดุร้าย แต่พอพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด ก็เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา เลิกนิสัยดุร้าย และคิดจะหันมาออกบวช ... มีพญานาคตนหนึ่ง แปลงกายมานั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ แล้วเกิดศรัทธา จึงได้ขอบวชเป็นพระภิกษุ ... แต่อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุนาคเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์จำแลงกายได้เสื่อมคืนร่างเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้าก็เกิดตกใจกระเจิดกระเจิงจนจีวรบิน ... ความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงทรงเรียกพระภิกษุนาคนั้นมาพบ และบอกให้สึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า “นาค” ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน แต่ก็ติดที่เป็นสัตว์ไม่สามารถบวชได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ พญานาคจึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ


เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ ๑ พรรษา (๓ เดือน) และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ด้วยบันไดแก้ว บันไดเงิน และบันไดทอง ที่เหล่าเทวดาบันดาลถวายเป็นเส้นทางพระดำเนิน ส่วนมนุษย์โลกก็จะทำบุญตักบาตร นำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้บูชา ... ความนี้เมื่อรู้ถึงพญานาคที่อยู่เมืองบาดาล จึงได้จัดทำ “ดวงไฟพญานาค” สำแดงฤทธิ์จุดเฉลิมฉลองจากท้องน้ำบาดาลขึ้นสู่นภากาศเช่นกัน ... ต่อมา ตำนานนี้ก็ถูกเรียกกันในถิ่นลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อได้เห็นปรากฏการณ์ประหลาด มีดวงไฟลอยขึ้นจากแม่น้ำโขงสู่ท้องฟ้า ในทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีว่า “บั้งไฟพญานาค” และได้กลายมาเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้


ในทางโหราศาสตร์ การทำบุญรำลึกถึง “พญานาคราช” นอกจากจะเป็นการอุทิศบุญถึงแก่ พญานาคทั้ง ๔ ตระกูลแล้ว ยังมีความหมายในอีก ๒ สถาน คือ เป็นการรำลึกถึง “เทวดาพระเกตุ” และ “เทวดาพระเสาร์” ... เมื่อบอกว่ารำลึกเทวดาพระเกตุ ท่านคงจะไม่แปลกใจ แต่ทำไมต้องมีเทวดาพระเสาร์ด้วย? ... ก็ขอให้ท่านดูเอาจากนิทานชาติเวรเถิด พระเสาร์เสวยชาติในแต่ละครั้ง ก็ไม่เคยพ้นงู หรือ พญานาค ... ขนาดพระประจำวันเสาร์ยังเป็นพระนาคปรกเลย ... ส่วนในมุมการพยากรณ์ เมื่อดาวเสาร์สัมพันธ์กับดาวเกตุ หรือด้วยจังหวะดาวจร เสาร์ถึงเกตุ หรือ เกตุถึงเสาร์ คำทำนายมักจะออกมาในแง่ดีมากกว่าร้าย จักมีโชคลาภความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง ... เทพพระเสาร์จึงเป็นเสมือนหนึ่งภาคของพญานาคด้วยเช่นกัน


ตั้งดวงจิตอธิษฐานกันดีๆครับ วันออกพรรษาเป็นวันที่ สวรรค์-โลกมนุษย์-บาดาล เปิดถึงกัน ... สร้างบุญบำเพ็ญภาวนาในวันออกพรรษา จะได้รับผลบุญมากกว่าวันอื่นธรรมดาทั่วไปหลายสิบหลายร้อยเท่า ... คำอธิษฐานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นี้ ช่างแรงนัก ... วันสำคัญมีเพียงปีละ ๑ หน อาจพลิกเปลี่ยนชะตาใครบางคนให้เจริญรุ่งเรืองอย่างเหนือความคาดหมาย ... ‪#‎ชี้ชัดครับ‬